วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การลดภาวะนำ้ท่ม

กทม.สั่งอพยพเขตเสี่ยงเพิ่มอีก 4 พื้นที่



ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3

          ผู้ว่าฯ กทม. เผย ให้แขวงหนองค้างพลู เสนานิเวศน์ 1 อพยพ หลังน้ำสูงมาก ระบุ นายกฯ ให้ กทม.ดู การเปิด-ปิดประตูระบายน้ำคลองสามวาแล้ว

          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณแขวงทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา และแขวงคลองสามวาตะวันตก เฉพาะพื้นที่นอกแนวคันพระราชดำริ และที่เขตติดต่อคลองสามวา ฝั่งตะวันออก รวมถึงพื้นที่แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม หมู่บ้านเสนานิเวศน์โครงการ 1 เขตลาดพร้าว เป็นพื้นที่อพยพเพิ่มเนื่องจากพบว่าระดับน้ำนั้น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีระดับความสูงอยู่ที่ประมาณ 20 ซ.ม. - 1.20 ม. พร้อมแจ้งเตือน ประชาชนในเขตภาษีเจริญ ด้านทิศเหนือ เป็นพื้นที่เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด 

          นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังกล่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่นั้นสามารถซ่อมแซมประตูระบายน้ำคลองสามวา บริเวณซีกซ้าย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ตนได้รับรายงานอย่างไม่เป็นทางการจากศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องระดับการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำคลองสามวาแล้ว ซึ่งคงจะต้องพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการ


  กทม.ให้บางเขนอพยพ - งัดกฎหมายคุ้มกันประตูระบายน้ำ

          ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงให้ประชาชน เขตบางเขนอพยพ พร้อมงัดกฎหมายพิเศษคุ้มกันประตูระบายน้ำ รับห่วงประตูระบายน้ำคลองสามวาพัง รามคำแหง รามอินทรา จมแน่

          เมื่อวานนี้ (1 พฤศจิกายน) เวลา 20.35 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวสรุปพื้นที่น้ำท่วมที่ประกาศให้ประชาชนอพยพทั้งเขต มี 7 เขต ประกอบด้วย เขตดอนเมือง บางพลัด สายไหม ทวีวัฒนา หลักสี่ ตลิ่งชัน และบางเขน เนื่องจากมีระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น 

          ส่วนพื้นที่น้ำท่วมที่ให้อพยพเฉพาะพื้นที่ มี 4 เขต ประกอบด้วย เขตจตุจักร ในพื้นที่ริมคลอง เขตลาดพร้าว ในหมู่บ้านเสนานิเวศ โครงการ 2 และริมคลอง แขวงบางไผ่ เขตบางแค และแขวงทรายกองดินตะวันออก แขวงทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา


          ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีความเป็นห่วงประตูระบายน้ำคลองสามวา ที่เกิดชำรุด และประชาชนในพื้นที่ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำการซ่อมแซม ซึ่งหากปล่อยให้ประตูระบายน้ำคลองสามวา ชำรุดเสียหายต่อไป ประตูระบายน้ำก็จะพังลงมา และทำให้พื้นที่รามอินทรา และรามคำแหง เกิดปัญหาน้ำท่วมหนักขึ้นได้

          ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงออกคำสั่งกรุงเทพมหานคร เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยประตูระบายน้ำคลองสามวา เขตคลองสามวา ตามที่นายกฯ ได้มีคำสั่งที่ 17/2554 (ลงวันที่ 20 ตุลาคม 54) กำหนดให้กทม.เป็นพื้นที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรงตามมาตรา 31 แห่งพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 เพื่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ประสบอุทกภัย การให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย การจัดระเบียบ การจราจร การรักษาความสงบเรียบร้อย และการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ไปอย่างรวดเร็ว มีเอกภาพและมีประสิทธิภาพ และมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดำเนินการรักษาความสงบเรียบร้อย และป้องกันมิให้ประชาชนเข้าไปทำลายประตูระบายน้ำคลองสามวา อุปกรณ์ส่วนควบ สิ่งก่อสร้าง พื้นดินและแนวกระสอบทราย

          ขณะเดียวกัน จึงมีการจัดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจคุ้มครองและอารักขาเจ้าหน้าที่ของ กทม. เข้าไปทำการซ่อมแซมประตูระบายน้ำคลองสามวา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนหทัยมิตร แขวงสามวาตะวันตก เขตคลองสามวา โดยด่วน หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือขัดขวางการปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 





[1 พฤศจิกายน] กทม.เฝ้าระวังบางชัน หลังเปิดประตูระบายน้ำคลองสามวา
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


          สุขุมพันธุ์ ประกาศ แขวงบางไผ่เป็นพื้นที่อพยพ ยอมรับกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกน่าเป็นห่วง มีน้ำจากนครปฐมคอยตลบหลังอยู่ พร้อมจับตาดูเขตบางชัน หลังจากเปิดประตูระบายน้ำคลองสามวาสูง 1 เมตร

          วันนี้ (1 พฤศจิกายน) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ด้วยระดับน้ำที่ยังเพิ่มขึ้น จึงขอประกาศให้แขวงบางไผ่ เขตบางแค เป็นพื้นที่อพยพ และแขวงบางชัน เขตคลองสามวา เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง โดยกรุงเทพฯ ทางทิศตะวันตก เป็นพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะยังมีมวลน้ำจากนครปฐมรอตลบหลังอยู่ โดยขณะนี้ทาง กทม. แก้ปัญหาโดยการเร่งสูบน้ำลงคลองมหาชัย

          ขณะที่การเปิดประตูระบายน้ำคลองสามวาเพิ่มเป็น 1 เมตร ทำให้เขตบางชัน ที่มีนิคมอุตสาหกรรมบางชัน เป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมต่อไป ส่วนปริมาณน้ำในคลองสอง คลองทวีวัฒนา คลองรังสิตคงตัว ส่วนคลองแสนแสบ คลองลำปลาทิวมีระดับน้ำสูงขึ้น 



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 



ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร


[31 ตุลาคม] เตือนแขวงบางไผ่ เขตบางแค เตรียมอพยพ
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก TheBangkokGovernor

          เตือนประชาชนแขวงบางไผ่ เขตบางแค เตรียมอพยพ หลังน้ำท่วมสูง คาดน้ำถึงถนนเพชรเกษมวันที่ 1 พ.ย.นี้ พร้อมสั่งหนองแขมเฝ้าระวังต่อไป

          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ขณะนี้ปัญหาน้ำท่วมในเขตบางแค มีน้ำท่วมสูงมาก กทม. จึงตัดสินใจประกาศให้แขวงบางไผ่ เขตบางแค เป็นพื้นที่อพยพอีกแห่งหนึ่ง อีกทั้งเกรงว่า น้ำจะเข้ามาถึงถนนเพชรเกษม เขตหนองแขม ภายในคืนนี้ (31 ต.ค.) หรือพรุ่งนี้ (1 พ.ย.) จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

สำหรับพื้นที่ฝั่งตะวันตกมีความไม่แน่นอนสูงมาก สถานการณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ซึ่งในเขตตลิ่งชัน น้ำยังไม่นิ่ง หากน้ำไม่มาเพิ่ม จะสามารถเข้าสู่ระบบการระบายน้ำของ กทม. คาดว่าน้ำจะลดอย่างเห็นได้ชัดใน 3 - 4 วัน และจะแห้งภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่ง กทม. ก็ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเร่งระบายน้ำออกแม่น้ำท่าจีน


 สุขุมพันธุ์ รับหวั่นน้ำนครปฐมตลบหลัง เร่งระบายลงท่าจีน

          ผู้ว่าฯ กทม. เผยน้ำทะเลหนุนสูงผ่านไปแล้ว เจอกันอีกครั้งกลางเดือน พ.ย. แอบหวั่นน้ำจากนครปฐมตลบหลัง จึงให้ ศปภ. รีบระบายน้ำลงแม่น้ำท่าจีน ยอมรับแม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ก็ถือว่ายังไม่ปลอดภัย

          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในวันนี้ (31 ตุลาคม) ว่า สถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงได้ผ่านไปเรียบร้อย แล้วจะมีอีกครั้งในกลางเดือนพฤศจิกายน ขณะนี้มวลน้ำเหนือเริ่มนิ่ง ระดับน้ำในคลองสองคงที่ และระดับน้ำในคลองรังสิตลดลง แต่น้ำในเขตดอนเมืองหลักสี่สูงขึ้น ส่วนเขตบางพลัด ทวีวัฒนา ตลิ่งชัน บางแค ยังน่าเป็นห่วง เพราะน้ำจากจังหวัดนครปฐมมีโอกาสที่จะทะลักเข้าตลบหลังได้ ดังนั้นทาง กทม. จึงได้ประสานไปยัง ศปภ. เพื่อผันน้ำจาก จ.นครปฐม ไปทางแม่น้ำท่าจีน ก่อนที่จะทะลักเข้ากรุงเทพฯ

          แม้ว่าสถานการณ์น้ำจะดีขึ้น แต่ กทม. ยังไม่สามารถประกาศได้อย่างชัดเจนได้ เพราะถ้าหากเขตดอนเมือง หลักสี่ บางพลัด ทวีวัฒนายังมีปัญหา ก็ถือว่าสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วงอยู่

 กทม. เผยแผนที่เขตอพยพ-เฝ้าระวังพิเศษ


           ช่วงบ่ายของวันนี้ (31 ตุลาคม)  ทางศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย กรุงเทพมหานคร  ได้ออกประกาศให้ 2 เขต ใน กทม. เป็นพื้นที่อพยพเพิ่มเติมคือ เขตตลิ่งชัน และเขตหลักสี่ จาก 4 เขตเดิม ประกอบด้วย เขตสายไหม เขตดอนเมือง เขตบางพลัด และเขตทวีวัฒนา โดยแจกแจงรายละเอียดดังนี้

          พื้นที่อพยพ ได้แก่...

      เขตทวีวัฒนา
      ตลิ่งชัน
      บางพลัด
      หลักสี่
      ดอนเมือง
      สายไหม

          พื้นที่เฝ้าระวัง ได้แก่...


      คลองสามวา
      คันนายาว
      หนองจอก
      มีนบุรี
      ลาดกระบัง


          พื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ...

      บางซื่อ
      จตุจักร
      ลาดพร้าว
      บางเขน
      วังทองหลาง
  
          (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ตค.54)

 คาด 20 เขตกรุงเทพฯ พ้นน้ำท่วม


            กทม. ผนึกกำลังกับกรมชลประทาน เร่งระบายน้ำกู้วิกฤติ คาด 20 เขตพื้นที่กรุงเทพ รอดน้ำท่วม ชี้ภายใน 5 วัน น้ำที่คลอง 2 ลดแน่
            นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์  รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า จากการรื้อถอนประตูระบายน้ำ คลอง 9 10 11 12 และ 13 รวมถึงกรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มที่สถานีสูบน้ำคลองหกวาสายล่าง เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางประกงวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้สถานการณ์ที่คลอง 2 มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากปริมาณน้ำทรงตัว และเชื่อว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ เป็นวิธีที่ถูกต้อง ซึ่งคาดว่าภายใน 5 วัน ระดับน้ำคลองหกวาจะลดลงเหลือ 2 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จากเดิม 2.88 เมตร

            และจากแนวทางดังกล่าว คาดว่า จะทำให้พื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่ไม่ติดกับริมคลอง ในเขตกรุงเทพ มีแนวโน้มว่าจะน้ำไม่ท่วม 80 เปอร์เซ็นต์นั้นก็ได้แก่ ดินแดง พญาไท บึ่งกุ่ม บางซื่อ สะพานสูง วัฒนา ประเวศ บางกะปิ สาทร ทุ่งครุ ราชเทวี

            นอกจากนี้ นายธีระชน  ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการประสานงานของ กทม. กับ กรมชลประทานว่า หลังจากได้หารือร่วมกันนั้น ล่าสุด ทั้ง 2 หน่วยงานมีความเข้าใจมากขึ้น ทำให้ด้านข้อมูล และการปฏิบัติการในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการระบายน้ำนั้นเป็นไปได้ด้วยดี และคาดว่าเบื้องต้นจะมีพื้นที่ 20 เขตของกรุงเทพจะไม่ถูกน้ำท่วม

            นายธีระชน ยังกล่าวอีกว่า ส่วนนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพ และจังหวัดสมุทธปราการทั้งหมดจะรอดจากน้ำท่วมอย่างแน่นอน ส่วนกรณีแนวทำไซฟ่อนหรือกาลักน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำเหนือลงพื้นที่ตะวันออก ที่ทาง ศปภ. และ กทม. ตั้งใจจะทำก่อนหน้านี้นั้น ขณะนี้ไม่จำเป็นต้องทำแล้ว เพราะทางกทม. ได้ตัดสินใจรื้อถอนประตูระบายน้ำคลอง 9 , 10 , 11 , 12 และ 13 ออก ทำให้มวลน้ำไหลได้สะดวกขึ้น

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่ กทม.ได้ประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวังขณะนี้มีทั้งหมด 14 เขต ได้แก่...

             1.มีนบุรี
             2.หนองจอก
             3.ลาดกระบัง
             4.คลองสามวา
             5.ดอนเมือง
             6.หลักสี่
             7.สายไหม
             8.บางซื่อ
             9.จตุจักร
             10.บางพลัด
             11.คันนายาว
             12.บางเขน
             13.ลาดพร้าว
             14.วังทองหลาง

และอีก 3 แขวง ในพื้นที่เขตตลิ่งชัน ได้แก่...

             1.แขวงฉิมพลี
             2.แขวงตลิ่งชัน
             3.แขวงบางละมาด

ส่วนในพื้นที่ ให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ และเตรียมอพยพพร้อม ได้แก่ ...

             1.บริเวณริมคลองเปรมประชากรทั้งสองฝั่ง ในเขตดอนเมือง หลักสี่ และจตุจักร
             2.ริมคลองลาดพร้าว ในเขตจตุจักร ลาดพร้าว ห้วยขวาง และวังทองหลาง
             3.ริมคลองสอง ในเขตสายไหม และบางเขน
             4.คลองถนน ในเขตบางเขน และหลักสี่
             5.คลองบางบัว ในเขตบางเขน หลักสี่ และจตุจักร

ส่วนด้านศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย กทม.  สรุปสถานการณ์น้ำประจำวันปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และบริเวณพระรามหก ขณะนี้มีปริมาณน้ำ 3,281 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดลงจากเมื่อวาน 28 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ภาพรวมสถานการณ์น้ำ ในคลองต่าง ๆ

             ระดับน้ำคลองหกวาสายล่าง วัดระดับน้ำที่ประตูระบายน้ำคลองสอง เขตสายไหม ใน 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา ระดับน้ำทรงตัว
             ระดับฝั่งธนบุรี ระดับน้ำที่ประตูระบายน้ำทวีวัฒนา (คลองมหาสวัสดิ์ ศาลายา) 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 1 เซนติเมตร
             ระดับน้ำคลองเปรมประชากร ช่วงสน.ดอนเมือง (ตรงข้ามทางเข้าฐานทัพอากาศ) ระดับสูงล้นตลิ่ง ระดับน้ำทรงตัว
             ระดับน้ำคลองเปรมประชากร ช่วงวัดเทวสุนทร ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 26 เซนติเมตร  คลองบางซื่อ ช่วงถนนพหลโยธิน ระดับวิกฤติ (ระดับเท่ากับตลิ่ง)
             คลองบางพรหม ช่วงถนนกาญจนาภิเษก ระดับวิกฤติ (ระดับน้ำล้นตลิ่ง) คลองบางพรหม ช่วงถนนพุทธมณฑล สาย 3 ระดับวิกฤติ (ระดับน้ำเท่ากับตลิ่ง)
             คลองบางแวก ช่วงพุทธมณฑล สาย 1 เขตบางแค ระดับเตือนภัย (ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 16 เซนติเมตร )
             คลองลาดพร้าว ช่วงวัดลาดพร้าว เขตลาดพร้าว ระดับวิกฤติ (ระดับน้ำเท่ากับตลิ่ง)
             คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ช่วงคลองสาม สูงขึ้น 0.7 เซนติเมตร

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ ...

             น้ำท่วมขัง ในพื้นที่เขตดอนเมือง เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลเข้าสู่คลองเปรมประชากร ทำให้ระดับน้ำในคลองเปรมประชากรสูงจนล้นตลิ่ง และมีน้ำล้นแนวคันกั้นน้ำจากคลองรังสิตด้านถนนพหลโยธิน
             น้ำท่วมขัง ในพื้นที่เขตสายไหม เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลเข้าสู่คลองสอง (คลองถนน) และคลองพระยาสุเรนทร์ ทำให้ระดับน้ำในคลองสูงจนล้นตลิ่ง
             น้ำท่วมขัง ในพื้นที่เขตบางพลัด เนื่องจากมีน้ำล้นจาก อ.บางกรวย จ.นนทบุรี และมีปัญหาแนวคันกั้นน้ำของเอกชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชำรุดเสียหาย (ดำเนินการแก้ไขแล้ว)
             น้ำท่วมขัง ในพื้นที่เขตทวีวัฒนา เนื่องจากแนวป้องกันน้ำท่วมชั่วคราว (กระสอบทราย) บริเวณวัดปุรณวาส และคันกั้นน้ำคลองมหาสวัสดิ์ ช่วงคลองขุนศรีบุรีรักษ์ ซึ่งเป็นของเอกชนชำรุดเสียหาย อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข
             น้ำท่วมขัง ถ.พหลโยธิน ตั้งแต่อนุสรณ์สถาน-สะพานใหม่ ทั้งสองฝั่ง
             น้ำท่วมขัง ถ.วิภาวดี ช่วงรังสิต-แยกหลักสี่ ทั้งสองฝั่ง
             น้ำท่วมขัง ถ.สรงประภา ตลอดสาย ทั้งสองฝั่ง
             น้ำท่วมขัง ถ.กำแพงเพชร 6 (โลคัลโรด) ตั้งแต่แฟลตทุ่งสองห้อง - เมืองเอก ทั้งสองฝั่ง
             น้ำท่วมขัง ถ.สายไหม ตั้งแต่วัดหนองใหญ่ ถึง ซ.เพิ่มสิน
             น้ำท่วมขัง ถ.สุขาภิบาล 5 เขตสายไหม ตลอดสาย
             น้ำท่วมขัง ถ.แจ้งวัฒนะ เป็นช่วง ๆ ใกล้คลองประปา
             น้ำท่วมขัง ถ.สิรินธร ช่วงหน้าหน่วยงานกรมทางหลวง - ปากซอยรุ่งประชา เต็มผิวจราจร
             น้ำท่วมขัง เชิงสะพานปิ่นเกล้า - หน้าห้างพาต้า เต็มผิวจราจร
             น้ำท่วมขัง ถ.อรุณอัมรินทร์ จากแยกอรุณอัมรินทร์-แยกศิริราช
             น้ำท่วมขัง ถนนจรัญสนิทวงศ์ ช่วงซอยจรัญสนิทวงศ์ 41 - 45 เต็มผิวจราจร
             น้ำท่วมขัง ถ.บรมราชชนนี แยกพุทธมณฑลสาย 3 ถึงตลาดพุทธมณฑล สูง 10 ซม.
             น้ำท่วมขัง ถ.บรมราชชนนี แยกพุทธมณฑลสาย 2 ถึงแยกพุทธมณฑลสาย 3 สูง 50 ซม.
             น้ำท่วมขัง ถ.ศาลาธรรมสพน์ หมู่บ้านอมรชัย ถึงแยกพุทธมณฑลสาย 3 สูง 50 ซม.
             น้ำท่วมขัง อุโมงค์บางพลัด ปิดการจราจรแล้ว
             น้ำท่วมขัง ถ.ทรงวาด ตลอดสาย
             กรณีแนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในซ.จรัญสนิทวงศ์ 80 ของเอกชนที่ชำรุด เจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ ดำเนินการซ่อมแก้ไขแนวป้องกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
             กรณีแนวกำแพงบ้านเรือนประชาชนริมคลองพระโขนงบริเวณสมาคมหิมะทองคำ เจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ ดำเนินการซ่อมแก้ไขเสร็จเรียบร้อยแล้ว
             กรณีแนวป้องกันน้ำท่วมริมคลองมหาสวัสดิ์ชำรุดเสียหาย อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข


  ผู้ว่าฯ กทม. ย้ำเร่งผันขอ 50 เขต ไม่ประมาท


           ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับ 2 วันที่ผ่านมา น้ำสูง สถานการณ์เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเป็นไปได้น้ำเหนือหมดแล้ว ย้ำเร่งระบายน้ำทั้งตะวันออก-ตะวันตก ขอทหารคุ้มกัน ซ่อมประตูน้ำริมถนนพหลโยธิน จ.ปทุมธานี

           ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยในรายการเปิดข่าวเด่นเจาะประเด็นดัง FM 102.75 MHz สถานการณ์น้ำกรุงเทพมหานครว่า ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ปริมาณน้ำสูงสถานการณ์น้ำอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และปริมาณน้ำได้แผ่เข้ามาในกรุงเทพมหานครเป็นบริเวณกว้าง ขณะที่มองว่า ภาพรวมมีความเป็นไปได้ที่น้ำทางเหนือใกล้หมดแล้ว ดูจากน้ำขณะนี้มาในลักษณะแผ่แบบนิ่งไม่ใช่การทะลัก เหมือนช่วงต้นสัปดาห์ แต่ 50 เขต ไม่ประมาท ยังคงเตรียมความพร้อม ส่วนการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร มีการเปิดประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำอยู่ตลอดเวลา อาทิโรงสูบน้ำบางเขน และยังมีการระบายออกตามธรรมชาติ ทั้งทางตะวันออกและตะวันตก

           ส่วนปัญหาความขัดแย้งของมวลชนเรื่องคันกั้นน้ำ ได้มีพยายามในการเจรจาอยู่ตลอด รวมถึงการซ่อมแซมคันกั้นน้ำที่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้หากต้องการให้ กทม.เข้าไปซ่อมแซมประตูน้ำริมถนนพหลโยธิน จ.ปทุมธานี จะต้องขอให้หน่วยงานด้านความมั่นคงเข้ามาดูแล



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย กรุงเทพมหานคร




น้ำท่วมกรุงเทพ 2554



[30 ตุลาคม] ผู้ว่าฯ กทม.แถลงเตือนตลิ่งชันหลักสี่อพยพ 

          ผู้ว่าฯ กทม. ประกาศ ตลิ่งชัน - หลักสี่ ยกเขต เป็นพื้นที่ต้องอพยพ พร้อมแจงสถานการณ์น้ำเริ่มนิ่ง แสดงว่าพลังน้ำเหนือลดลง

          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงถึงสถานการณ์น้ำท่วม ว่า ได้ประกาศให้ประชาชนทั้งหมดในเขตตลิ่งชัน และเขตหลักสี่ เคลื่อนย้ายไปศูนย์พักพิงเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมทั้งให้คนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองมหาสวัสดิ์ ติดตามน้ำอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ในเวลาต่อไป ปริมาณน้ำจะมีมากขึ้น และขยายตัวไปในพื้นที่อื่นอีก แต่จะนิ่งกว่าเดิม ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่า พลังน้ำเหนือลดลง
 กทม.เร่งระบายน้ำฝั่งตะวันออกลงสู่ทะเล 

          กทม.เตรียมรื้อประตูระบายตามคลองในเขตหนองจอกเพิ่มขึ้น เพื่อระบายน้ำจากฝั่งตะวันออกของ กทม. ได้มากกว่า วันละ 10 ล้าน ลบ.ม.

          นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงแนวทางการระบายน้ำในพื้นที่กทม.ว่า หลังจากวานนี้ กทม.ได้มีการรื้อประตูระบายน้ำคลอง10, 11 และ 12 ที่อยู่ในเขตพื้นที่หนองจอกเพื่อให้น้ำที่ไหลมาจากคลองรังสิต จ.ปทุมธานี ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกไหลลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น โดยมีความร่วมมือกับทางกทม.และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกรมชลประทาน ได้นำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งเพิ่มเติมที่บริเวณคลองหกวาเป็น 14 เครื่อง

          ล่าสุด เตรียมที่จะรื้อประตูระบายน้ำเพิ่มที่คลอง 9, 13 และ 14 เพิ่มเติม นอกจากนี้ยังได้เพิ่มเครื่องสูบน้ำที่คลองหกวาอีก 3 เครื่อง โดยน้ำที่ระบายลงสู่คลองแสนแสบเข้าสู่ระบบสูบน้ำของกทม. ระบายออกสู่แม่น้ำบางปะกงในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถผันน้ำได้มากกว่าวันละ 10 ล้านลูกบากศ์เมตร และหากน้ำจากฝั่งตะวันออกลดลงในระดับที่น่าพอใจ กทม.ก็มีแนวคิดที่จะผันน้ำจากทางด้านเหนือของกทม. ให้ไหลลงสู่ทางด้านฝั่งตะวันออกด้วย

 น้ำคลองประปาทะลักเข้าท่วมสี่แยกพงษ์เพชร 

          คลองประปาล้นทะลักท่วมสี่แยกพงษ์เพชร ไหลเข้าหมู่บ้านจัดสรรหลายแห่ง ปิดการจราจรไปแล้ว 2 เลน

          ขณะนี้ น้ำในคลองประปาล้นทะลักออกมาท่วมบริเวณสี่แยกพงษ์เพชร ส่งผลให้ ถ.งามวงศ์วานขาเข้าจากแยกพงษ์เพชร ซอยชินเขต ถึงสะพานข้ามคลองพัดโบก น้ำท่วมสูง 2 เลนซ้าย ผ่านได้แค่เลนขวา และน้ำได้ไหลเข้าไปในหมู่บ้านจัดสรรหลายแห่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็น หมู่บ้านพงษ์เพชร หมู่บ้านชินเขต

          ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่การประปานครหลวง (กปน.) ได้ดำเนินการเจาะพนังคอนกรีตบริเวณริมคลองประปา ช่วงตัดกับคลองบางเขน ใกล้กับแยกพงษ์เพชร ให้แตกออก เพื่อระบายน้ำจากคลองประปาลงสู่คลองบางเขน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ได้ติดตั้งท่อพีวีซีเพื่อระบายน้ำด้วย ซึ่งหากน้ำต่ำกว่าพนังคอนกรีตที่เจาะ ก็จะใช้ท่อสูบน้ำออกจากคลองประปา เพื่อให้ปริมาณน้ำในคลองประปาลดลงเร็วที่สุด

 น้ำท่วมถ.แจ้งวัฒนะน่าห่วง-จราจรติดขัด 

          สถานการณ์น้ำท่วมบริเวณถนนแจ้งวัฒนะ ขณะนี้ยังน่าเป็นห่วง ขณะการจราจรยังคงติดขัด

          สถานการณ์น้ำท่วมบริเวณถนนแจ้งวัฒนะ ขณะนี้ยังน่าเป็นห่วง ภายหลังเกิดปัญหาประชาชนรื้อคันกั้นน้ำบริเวณวัดนาวง ดอนเมือง ส่งผลให้น้ำได้ทะลักเข้ามาในคลองประปา ล้นออกสู่ถนนแจ้งวัฒนะ จนทำให้มีน้ำท่วมตั้งแต่บริเวณสี่แยกสะพานข้ามคลองประปาต่อเนื่องถึงด้านหน้าโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โดยน้ำที่เข้าท่วมขังสูงประมาณ 70 เซนติเมตร ขณะที่ซอยแจ้งวัฒนะ 14 บริเวณหน้าปากซอยก็มีน้ำท่วมขังสูง 70 เซนติเมตรเช่นกัน โดยรถเล็กสามารถวิ่งได้เพียงเลนเดียว 

          ในขณะฝั่งกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และถนนแจ้งวัฒนะ ตั้งแต่แยกคลองประปาถึงหน้าศูนย์ราชการ ก็มีน้ำท่วมสูงกว่า 50 เซนติเมตร บางจุดน้ำทะลักขึ้นจากท่อระบายน้ำ ส่วนถนนเลียบคลองประปา ชจากถนนแจ้งวัฒนะมุ่งหน้าถนนงามวงศ์วาน รถยังสามารถสัญจรได้

          ส่วนการจราจรบนถนนแจ้งวัฒนะในช่วงสะพานข้ามศูนย์ราชการและสะพานข้ามคลองประปายังคงติดขัด เนื่องจากประชาชนได้นำรถยนต์ส่วนตัวไปจอดบนสะพานข้ามแยกศูนย์ราชการ และสะพานข้ามแยกคลองประปา 2 ช่องจราจร ทำให้รถใช้ได้เพียง 1 ช่องจราจรเท่านั้น

 บางระมาด น้ำเข้าท่วมพื้นที่ 100 % แล้ว 

         ประธานตลาดน้ำคลองลัดมะยม ระบุน้ำเข้าท่วมแขวงบางระมาด หนึ่งในพื้นที่ที่กทม. เตือนให้อพยพแล้วเกือบ 100 % 

          นายชวน ชูจันทร์ ประธานประชาคมตลาดน้ำคลองลัดมะยม แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน เปิดเผยสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ขณะนี้ น้ำจากคลองมหาสวัสดิ์ ที่ล้นคั้นกั้นน้ำ ไหลทะลักมาทางคลองทวีวัฒนา ได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ในแขวงบางระมาด เกือบ 100 % แล้ว โดยมีความสูงของน้ำประมาณ 30 เซนติเมตร และปริมาณน้ำยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของตลาดน้ำคลองลัดมะยม หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเขตตลิ่งชั่น ได้ปิดการให้บริการลงชั่วคราวแล้ว เพราะรถไม่สามารถสัญจรได้ และคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ10 วัน น้ำจะลด ทำให้สถานการณ์ถึงกลับมาสู่ภาวะปคติ

          ส่วนกรณีที่ทาง กทม. ประกาศให้ แขวงบางระมาด เป็นหนึ่งในพื้นที่เตรียมอพยพนั้น นายชวน ระบุว่า ชาวบ้านชายคลองส่วนมากจะไม่มีใครอพยพ เพราะคุ้นเคยกับภาวะน้ำท่วมเป็นประจำอยู่ทุกปีอยู่แล้ว แต่ประชาชนที่อยู่นอกเหนือริมคลอง หรืออยู่หมู่บ้านจัดสรร ก็มีการเตรียมการในการอพยพยบางส่วนแล้ว

น้ำท่วม

 กทม.ให้ชาวบ้านตลิ่งชัน ฉิมพลี บางระมาด พร้อมอพยพ
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยน้ำเจ้าพระยาทุบสถิติสูงสุด 2.53 เมตร ริมสองฝั่งได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้น เตือนประชาชนแขวงตลิ่งชัน ฉิมพลี บางระมาด พร้อมอพยพ ประสาน ศปภ. สกัดน้ำคลองรังสิต

          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงความคืบหน้าล่าสุด โดยระบุว่า ขณะนี้ระดับน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา สูงกว่าทุกวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 2.53 เมตร ริมสองฝั่งได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้น และยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยล่าสุดได้มีการประกาศให้ประชาชนในแขวงฉิมพลี แขวงตลิ่งชัน แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน เตรียมความพร้อม ที่จะอพยพเนื่องจากระดับน้ำท่วมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

          โดย กทม. ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แขวงฉิมพลี ถ.สวนผัก ตั้งแต่ริมทางรถไฟ ถึง ถ.กาญจนาภิเษก ด้าน ถ.บรมราชชนนีฝั่งขาเข้า จำนวน 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนหมู่บ้าน 2521 และชุมชนหมู่บ้านพัฒนา หมู่ 7 ฉิมพลี 

          อีกทั้งแขวงตลิ่งชัน ตั้งแต่ ถ.สวนผัก ซ.36 ถึงริมทางรถไฟ และชุมชนหลังวัดไก่เตี้ย รวมถึงแขวงบางระมาด เฉพาะชุมชนวัดมะกอก เขตตลิ่งชัน ขนย้ายสิ่งของทรัพย์สินมีค่า รถยนต์ ปลั๊กไฟฟ้าขึ้นที่สูง และให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เคลื่อนย้ายไปยังศูนย์พักพิงที่ กทม. จัดเตรียมไว้ หรือสถานที่ที่มีความปลอดภัย โดยให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วย เด็ก สตรีมีครรภ์ และคนชรา เป็นลำดับแรก พร้อมกันนี้ ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์จาก กทม. อย่างใกล้ชิด

          นอกจากนี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลองลาดพร้าว จตุจักร บางเขน หลักสี่ คลองเปรม ทั้ง 2 ฝั่ง ให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมอพยพออกจากพื้นที่ ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วม กทม. ชั้นในเพิ่มไปอีกนั้น ทาง กทม. ได้ทำหนังสือไปยัง ศปภ. ให้สกัดกั้นน้ำที่ไหลมาจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ที่ถนนพหลโยธิน ตัดคลองรังสิต โดยในส่วนของ กทม. พร้อมสนับสนุนในส่วนของบุคลากรและเครื่องมือย่างเต็มที่ 

          อย่างไรก็ตาม ในส่วนของปัญหาที่พบจากน้ำท่วมขัง มี 2 ปัญหาหลัก คือ 

          1. เรื่องขยะ ซึ่ง กทม. พยายามเก็บให้ดีที่สุด แต่เข้าไปในพื้นที่ได้ไม่หมด โดยเมื่อวานได้ส่งรถไปเขตบางพลัด ปรากฏว่ารถเสียไป 4 คัน ต้องใช้เรือ แต่ก็มีข้อจำกัดในการใช้เรือเก็บขยะ

          2. เรื่องน้ำเสีย กทม. จะใช้จุลินทรีย์ อีเอ็ม ไปทิ้งที่บริเวณต้นน้ำก่อนเข้ามา กทม. ในจุดที่มีน้ำท่วมขังมานาน เช่น บางพลัด และดอนเมือง

          นอกจากนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า น้ำทะเลหนุนสูงสุดเวลา 10.21 น. ที่ระดับ 1.30 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองตลาด จะสูงสุดที่ระดับ 2.53 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทำให้พื้นที่ทรงวาด และสามเสน 21 และ 23 ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำเจ้าพระยา

          ส่วนปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และพระราม 6 รวม 3,254 ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงจากเมื่อวาน 27 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะที่ปริมาณน้ำผ่าน อ.บางไทร ไม่สามารถตรวจวัดได้ เนื่องจากระดับน้ำสูงเกินค่าตลิ่ง โดยระดับน้ำที่ อ.บางไทร สูง 4.11 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ลดลงจากเมื่อวาน 3 เซนติเมตร ขณะที่ระดับน้ำในคลองหกวาสายล่าง และระดับน้ำที่ประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนา สูงเพิ่มขึ้นอีก 8 เซนติเมตร ส่วนคลองเปรมประชากรในพื้นที่เขตจตุจักร เพิ่มขึ้นอีก 10 เซนติเมตร

 กทม.เตือนชาวบ้านริม 5 คลองชั้นใน เฝ้าระวังพิเศษ

           กทม.เตือนชาวบ้านที่อยู่ติดริมคลอง 5 แห่งในกรุงเทพฯ ชั้นใน เฝ้าระวังน้ำล้นจากคลอง

           เมื่อเวลา 21.30 น. ของวันที่ 29 ตุลาคม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แถลงสรุปสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า ขอให้ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ริมคลองต่าง ๆ เฝ้าระวังระดับน้ำที่จะสูงขึ้น โดยสถานการณ์ยังค่อนข้างน่าเป็นห่วง

           พร้อมกันนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ยังได้ประกาศเตือนประชาชนที่อยู่ริมคลอง 5 แห่งต่อไปนี้ ให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยให้ยกข้าวของขึ้นที่สูง และเตรียมตัวให้พร้อมอพยพออกไปยังศูนย์พักพิง นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยพื้นที่ริมคลองทั้ง 5 แห่ง ประกอบด้วย

             1.คลองสอง บริเวณเขตสายไหม/บางเขน 
             2.คลองถนน บริเวณเขตบางเขน/หลักสี่ 
             3.คลองบางบัว บริเวณเขตบางเขน/หลักสี่/จตุจักร 
             4. คลองลาดพร้าว บริเวณเขตจตุจักร/ลาดพร้าว/ห้วยขวาง/วังทองหลาง 
             5. คลองเปรมประชากร บริเวณเขตดอนเมือง/หลักสี่/จตุจักร

           ทั้งนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ยังย้ำว่า การประกาศดังกล่าวหมายถึง "เฉพาะพื้นที่ที่ติดริมคลองเท่านั้น" ไม่ใช่ทั้งเขตแต่อย่างใด พร้อมกับขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
  


น้ำท่วม




[29 ตุลาคม] เผยชื่อ 7 คลองเฝ้าระวัง น้ำจ่อล้นตลิ่ง

สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม

          น้ำจากคลองลาดพร้าว เอ่อขึ้นมาบริเวณ จุดกลับรถเกษตรนวมินทร์ ระดับ 15 ซ.ม. ยาว 30 ม. ขณะบางเขน ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วน ออเงิน สายไหม ระดับน้ำท่วม 40 ซ.ม. เผย 7 คลองเฝ้าระวัง

          เมื่อเวลา 00.15 น. นายบพิธ แสงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานเขตลาดพร้าว กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุด กรณีน้ำจากคลองลาดพร้าว ได้เอ่อล้นตลิ่งเป็นที่สนใจของประชาชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว ว่า ขณะนี้ น้ำจากคลองลาดพร้าว ได้เอ่อขึ้นมาบริเวณจุดกลับรถ เกษตรนวมินทร์ ระดับน้ำอยู่ที่ 15 เซนติเมตร ความยาว 30 เมตร ส่วนระดับน้ำภายในคลองลาดพร้าวนั้น จากการรายงานพบว่า เพิ่มขึ้นจากเมื่อช่วงเย็น 20 เซนติเมตร ซึ่งก็จะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ โดยที่ผ่านมาทางสำนักงานเขต ก็ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจระดับน้ำทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่ตลอดเวลา

          ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมที่บริเวณถนนพหลโยธิน ฝั่งขาเข้า เขตบางเขน ขณะนี้ น้ำได้ไหลเข้าใกล้ยังบริเวณหน้าอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญแล้ว โดยระดับน้ำอยู่ที่ 50-60 เซนติเมตร ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่แขวงท่าแร้งนั้น พบว่า ถนนมีน้ำท่วมขังอยู่ประมาณ 60-70% โดยบางหมู่บ้านในพื้นที่ก็ถูกน้ำท่วมบ้างแล้ว เนื่องจากระดับพื้นดินต่างกันกับพื้นถนน ขณะที่บริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์นั้น ก็มีน้ำท่วมขังเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ระดับน้ำได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชาชนในเขตบางเขน ต่างออกมาเฝ้าดูสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

          ส่วนสถานการณ์น้ำ บริเวณถนนวัชรพล ถนนออเงิน ไปถนนสายไหม และถนนสุขาภิบาล 5 น้ำท่วมตลอดเส้นทาง ระดับ 20-40 เซนติเมตร ส่วนถนนสายไหมนั้นมีน้ำท่วมบางจุด รถเล็กไม่ควรผ่าน ขณะที่ซอยอรุณอัมรินทร์ 53 น้ำท่วมสูงระดับหัวเข่า ชุมชนด้านใน น้ำได้ไหลทะลักเข้าท่วม และเริ่มปริ่มเข้าพระราม 8 ทางด้านหลังแล้ว

          ขณะที่สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยข้อมูลระดับน้ำในคลองกรุงเทพมหานคร วัดระดับเช้าวันนี้พบว่า มี 7 คลองที่ระดับน้ำไม่ปกติ อยู่ในสถานะเฝ้าระวัง ได้แก่ 

           คลองบางพรหม ถนนกาญจนาภิเษก น้ำท่วมตลิ่งทั้ง 2 ฝั่ง
           คลองบางพรหม ถนนพุทธมณฑล สาย 3 น้ำท่วมตลิ่งขวา
           คลองบางซื่อ ถนนพหลโยธิน น้ำท่วมตลิ่งขวา
           คลองบางแวก ถนนพุทธมณฑล สาย 1 วัดไชยฉิมพลี น้ำท่วมตลิ่ง
           คลองเปรมประชากร ทั้งดอนเมือง และวัดเทวสุนทร น้ำท่วมตลิ่ง ทั้ง 2 ฝั่ง
           คลองลาดพร้าว วัดลาดพร้าว น้ำท่วมตลิ่งขวา


  เตือน วังทองหลาง จตุจักร ลาดพร้าวเฝ้าระวังพิเศษ

          ผู้ว่าฯ กทม. สรุปสถานการณ์น้ำ เจ้าพระยาสูง 2.48 ม. ประกาศเตือน วังทองหลาง-ลาดพร้าว- จตุจักร เฝ้าระวังพิเศษ ส่วน บางพลัด น้ำยังสูงขึ้นต่อเนื่อง

          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวสรุปสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ว่า เมื่อช่วงเช้าน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา สูงถึง 2.48 ม. ซึ่งจากการที่น้ำทะเลหนุนสูงดังกล่าว ยังไม่ส่งผลกระทบในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มเติม

          ส่วนปัญหาน้ำท่วมในเขตบางเขน ส่วนใหญ่ยังคงทรงตัว ขณะนี้ เริ่มมีสัญญาณเตือนว่าในพื้นที่เขตลาดพร้าว จตุจักร วังทองหลาง กำลังจะมีปัญหาน้ำเริ่มเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งใน 3 เขต ดังกล่าว กรุงเทพมานคร ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษแล้ว

          ส่วนพื้นที่เขตบางพลัด วันนี้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจำนวนมาก ประชาชนในพื้นที่มีความกังวลเรื่องขยะกองใหญ่ ทางกรุงเทพมหานคร จึงได้สั่งการให้สำนักสิ่งแวดล้อมร่วมกับสำนักงานเขตบางพลัด เร่งเข้าไปดำเนินการเก็บขยะโดยทางเรือ ซึ่งจะพยายามเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันนี้ (29 ตุลาคม)










[28 ตุลาคม] กทม.แถลงน้ำเหนือเข้าบางเขน-ทวีวัฒนาจับตา

กทม.แถลงน้ำเหนือเข้าบางเขน-ทวีวัฒนาจับตา (ไอเอ็นเอ็น)
 
 
           ผู้ว่าฯ กทม. เผยยังไม่ประกาศอพยพ เขตทวีวัฒนา แต่ให้ประชาชน เตรียมพร้อมตลอดเวลา ระบุ ยังไม่มีการประสาน ศปภ. เรื่องเจาะถนน แนะคิดให้รอบคอบ

           วันนี้ (28 ตุลาคม) ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ว่า ขณะนี้มวลน้ำเหนือเข้ามาถึงพื้นที่ เขตบางเขนแล้ว ซึ่งทางกรุงเทพมหานคร จะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะเขตบางเขน เป็น 1 ใน 7 เขตเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ส่วนในพื้นที่แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา ทางผู้บริหารกรุงเทพมหานคร มีการประชุมหารือกันได้ข้อสรุปว่า วันนี้จะยังไม่มีการประกาศให้เป็นพื้นที่อพยพ เพราะขอรอกู้พื้นที่บริเวณวัดปุรณาวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ฟันหลอ โดยการนำแผ่นชีทไพล์ (Sheet Pile) ยาว 12 เมตร จำนวน 180 แผ่น เข้าไปอุดพื้นที่ฟันหลอดังกล่าว แต่ก็ขอให้ประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ และเตรียมพร้อมอพยพได้ทุกเมื่อ

           ส่วนกรณีที่ ศปภ. จะเจาะถนนเพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ยังไม่มีการประสานมาทางกรุงเทพมหานคร แต่แนะนำว่า หากจะทำอะไรกับกรุงเทพมหานคร ควรจะแจ้งเจ้าของพื้นที่ได้รับทราบบ้างก็ดี และหากทำอะไร ก็ควรมองให้รอบคอบ ไม่สร้างความเดือดร้อน ซ้ำเติมประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยเพิ่มเข้าไปอีก




 ศปภ.ขอปชช.เตรียมพร้อมอพยพ

          โฆษก ศปภ. แถลงวางแผนเตรียมพร้อมสูงสุด อพยพ คน กทม. เพื่อไม่ประมาท คาดน้ำอาจสูงสุดถึง 1.50 เมตร


          นายธงทอง จันทราศุ โฆษกศูนย์ปฏิบัติช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ว่า กรณีที่นักวิชาการตั้งสมมุติฐานที่รุนแรงที่สุดคือ น้ำอาจท่วม กทม.สูงสุด 1.50 เมตร และท่วมขังอยู่นานนั้น ทาง ศปภ. เตรียมความพร้อมสูงสุด รองรับสถานการณ์เพื่อความไม่ประมาท โดยประสานทุกหน่วยงาน และกองทัพไทยให้เตรียมการอพยพประชาชนไปต่างจังหวัด 9 จังหวัด อาทิ กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ฯลฯ โดยที่จะอยู่ในค่ายทหาร ส่วนราชการ และสถานศึกษา สำหรับขั้นตอนการอพยพนั้น ให้ชุมชนประชุมหารือกำหนดจุดรวมพลที่ริมถนนใหญ่ สังเกตง่าย ทั้งนี้ในกรณีใกล้เวลาคับขัน ราชการจะแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังพิเศษผ่านสื่อสาธารณะ โดยจะได้ประมาณการระยะเวลาที่น้ำอาจท่วมขังใน กทม. ซึ่งกรณีเลวร้ายที่สุด คือ 15 วัน ถึง 1 เดือน

          โฆษก ศปภ.ยังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำใน กทม.วันนี้ว่า ใกล้เคียงกับเมื่อวาน แต่สูงขึ้นเล็กน้อยที่ริมเจ้าพระยา ทั้งในฝั่งพระนคร และธนบุรี รวมถึงตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต และถนนพหลโยธิน สำหรับถนนวิภาวดีรังสิต น้ำถึง แยกหลักสี่ ส่วนพหลโยธิน มาถึงบริเวณบิ๊กซีสะพานใหม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการอย่างเต็มที่ ระบายน้ำลงอ่าวไทยให้เร็วและมากที่สุด ใช้ทั้งเส้นทางทั้งตะวันออก และตะวันตก แต่เพราะน้ำทะเลหนุน จึงยังไม่ได้ผลรวดเร็วตามที่คาด โดยจะเร่งรัดเข้มงวดให้มากขึ้น







[27 ตุลาคม] กทม.ทำแนวกระสอบทราย ถ.นิมิตรใหม่
น้ำท่วม



         ผกก.สน.นิมิตรใหม่ เผย กทม. เร่งก่อกำแพง ถ.นิมิตรใหม่ ป้องกทม. แนวคันกั้นน้ำเต็มที่ ด้าน ผอ.คลองสามวา รับมีปัญหนักแน่

         พ.ต.อ.สมควร พึ่งทรัพย์ ผกก.สน.นิมิตรใหม่ เปิดเผย ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ขณะนี้ทาง กทม. ได้เร่งทำคันกั้นน้ำตามแนวถนนนิมิตรใหม่เกือบทั้งเส้นทาง ตั้งแต่สามแยกหทัยราษฎร์ ไปจนถึงถนนสุวินทวงศ์ เพื่อทำคันกั้นน้ำที่ไหลมาจากเขตองลำลูกกา และธัญบุรี ซึ่งคาดว่าจะมาถึงเร็ว ๆ นี้ และป้องกันไม่ให้เข้าเขตคันกั้นน้ำของ กทม. ซึ่งขณะนี้มีประชาชนที่อาศัยในละแวกนั้น นำรถยนต์มาจอดหนีน้ำ ริมถนนนิมิตรใหม่ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทางตำรวจจะผ่อนผันให้จอดได้ แต่ขอให้ประชาชนล็อกรถให้ดี หลังมีโจรขโมยรถยนต์มามากขึ้น

         ส่วน นายนราธิป ภัทรวิมล ผอ.เขตคลองสามวา กล่าวสั้น ๆ ว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ขณะนี้ถือว่าหนักมาก กำลังเร่งแก้ปัญหาในพื้นที่อยู่





เจ้าพระยาระดับน้ำสูงระนาบเดียวกับคันกั้นน้ำ (ไอเอ็นเอ็น)ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3

           ระดับน้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนฯ ยังสูงเป็นแนวเดียวกับคันกั้นน้ำ - ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ทำให้เอ่อล้นท่วมถนน รถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านได้

           สถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงเช้าวันนี้ (27 ตุลาคม) ระดับน้ำยังคงอยู่ในระดับสูง โดยในส่วนของฝั่งธนบุรี ระดับน้ำยังทรง สูงเป็นแนวเดียวกับคันกั้นน้ำ ทำให้เอ่อเข้าท่วมถนนใกล้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า รถขนาดเล็กไม่สามารถสัญจรได้ ซึ่งระดับน้ำที่เข้าท่วมถนนนั้น ทุกส่วนมีระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นจากเมื่อวานที่ผ่านมา

           ขณะที่ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านบริเวณสะพานพุทธ สูงกว่า 2.55 เมตร ดังนั้นจึงมีการแจ้งเตือนประชาชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานพุทธ ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

          นอกจากนี้ แรงดันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้พื้นตลาดยอดพิมาน ในส่วนอาคารเก่าติดแม่น้ำ เกิดปริแตกเป็นทางยาวและมีน้ำรั่วซึมขึ้นมา ซึ่งพ่อค้าแม่ค้ากังวลว่า หากแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในระดับสูงกว่านี้อาจทำให้พื้นระเบิดออก และสร้างความเสียหายให้กับชาวยอดพิมานได้


ตลาดยอดพิมาน สะพานพุทธ

          ขณะที่แผงค้าผัก ที่อยู่ไม่ไกลจากรอยร้าวนี้ เจ้าหน้าที่ของตลาดได้ทำคันกระสอบทรายไว้เพื่อป้องกันน้ำท่วมสไลด์ลงมา ทำให้น้ำเจ้าพระยาพุ่งขึ้นมาท่วมพื้นที่ตลาด ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล 6, เจ้าหน้าที่ตลาด และเจ้าหน้าที่สำนักระบายน้ำของ กทม. ต้องช่วยกันซ่อมแซมคันกระสอบทราย แล้วค่อยใช้เครื่องสูบน้ำสูบลงแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้ง

          ส่วนตามพื้นที่รอบนอกของตลาด บริเวณทางเข้า ก็มีรอยรั่วจากพื้นและมีน้ำพุ่งขึ้นมาหลายจุด เช่นกัน ประกอบกับน้ำที่มาจากท่อระบายน้ำเอ่อล้นออกมา ทำให้พื้นที่รอบตลาดแห่งนี้มีน้ำท่วมขังสูงราว 30 เซนติเมตร อย่างไรก็ตามการค้าขายในตลาดยอดพิมานและปากคลองตลาด ยังคงดำเนินไปตามปกติ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น