วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2554

วันลูกเสือแห่งชาติ

        ่กองลูกเสือกองแรกของโลกได้ถูกตั้งขึ้นมา ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ.2450 โดยท่าน ลอร์ด บาเดน เพาเวลส์ และกิจการลูกเสือก็ได้แพร่หลายขยายตัวไปทั่วโลกโดยได้รับการยอมรับว่า ลูกเสือเป็นขบวนการของเยาวชน ที่ทรงคุณประโยชน์ทั้งตัวของเยาวชนเอง และสังคม
        สำหรับประเทศไทย หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดตั้งกองลูกเสือป่าขึ้นมา เพื่อให้บรรดาข้าราชการพลเรือน ได้รับการฝึกอบรมให้เป็นบุคคลที่มีใจรักชาติ มีความเสียสละและมีความสามัคคีต่อกัน ดังพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตรัสไว้ว่า " ชาติจะเจริญรุ่งเรืองได้ คนในชาติต้องเป็นคนดีก่อน การที่จะสอนให้คนรักชาติก็ดี ให้คิดทำประโยชน์เพื่อชาติก็ดี ต้องมุ่งอบรมคนในชาติเป็นประการแรก" และได้ทรงพิจารณาเห็นว่า บรรดาบุตรของเสือป่าทั้งหลายควรได้รับการอบรมให้เป็นพลเมืองที่ดีของชาติแต่เยาว์ในทำนองไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก สิ่งที่ดีงามทั้งหลายทั้งปวงที่พลเมืองที่ดีพึงจะมีจะได้ฝังแน่นในกระแสเลือดของเยาวชนไทย คุณภาพแห่งการเป็นมนุษย์ จะได้เกิดขึ้นมาในสังคมไทย
        เมื่อวันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2454 นั้นเอง จึงได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ประกาศตั้งกองลูกเสือกองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งปัจจุบันคือ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เรียกว่า กองลูกเสือกรุงเทพ ที่ 1 ภายหลังที่ทรงตั้งกองเสือป่าได้เพียง 2 เดือนเท่านั้น ประเทศไทยจึงนับว่าเป็นประเทศที่ 3 ของโลก ที่มีกิจการลูกเสือ รองมาจากอเมริกา จากนั้น นานาชาติในยุโรปจึงได้จัดตั้งกองลูกเสือของตนขึ้น ลูกเสือกลายเป็นองค์การสากลและมีความสัมพันธ์กันทั่วโลกเป็นสื่อผูกไมตรีกันโดยใช้กฎของลูกเสือ 10 ประการ ผูกสัมพันธ์กันได้ไม่เว้นเชื้อชาติใด ศาสนาใดทั้งสิ้น ถือว่า ลูกเสือทั่วโลกเป็นพี่น้องกันหมด
        กองลูกเสือกองแรกทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกองลูกเสือหลวง กระทำพิธีเข้าประจำกอง เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2454 ทรงพระราชทานคติพจน์แก่ลูกเสือว่า "เสียชีพ อย่าเสียสัตย์" และผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นลูกเสือไทยคนแรก คือ นาย ชัพพ์ บุนนาค
        หลังจาก ทรงสถาปนา กิจการลูกเสือขึ้นมาแล้ว ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ตราข้อบังคับลักษณะการปกครองลูกเสือ และตั้งสภากรรมการจัดการลูกเสือแห่งชาติขึ้นโดยพระองค์ ทรงดำรงตำแหน่งสภานายก ต่อมาทุกครั้งที่พระองค์เสด็จไปยังจังหวัดใดก็ตามก็จะทรงโปรดเกล้าฯ ให้กระทำพิธีเข้าประจำกองลูกเสือประจำจังหวัดนั้น ๆ ให้ด้วย
        ต่อมา กิจการลูกเสือไทยได้เจริญก้าวหน้าเป็นที่ยอมรับของนานาชาติดังจะเห็นได้จากการที่ กองลูกเสือที่ 8 ของประเทศอังกฤษ ได้ขอพระราชทานนามกองลูกเสือของตนกองนี้ต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "กองลูกเสือในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม" (The King of siam own boy scout group) มีเครื่องหมายช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์
        เมื่อสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงฟื้นฟูกิจการลูกเสือไทยต่อไปอีก โดยโปรดเกล้าฯ ให้มีการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2470 และจัดการชุมนุม ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2473 ณ พระราชอุทยาน สราญรมย์ นอกจากนี้ยังโปรดเกล้า ฯ ให้มีการอบรมผู้กำกับลูกเสือที่โรงเรียนผู้กำกับ ที่เคยเปิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่พระราชวังบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรีโดยคัดเลือกเอาผู้กำกับจังหวัดละหนึ่งคนเข้ามาอบรมช่วงเวลาปิดภาคเรียน ปีละครั้ง จนถึง พ.ศ.2475 เป็นรุ่นสุดท้าย
        หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองกิจการลูกเสือไทยได้มุ่งไปในการบำเพ็ญประโยชน์เสียเป็นส่วนใหญ่ มีการอบรมควบคู่กันไปกับการอบรมยุวชนทหารและเหตุการณ์ สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้กิจการลูกเสือซบเซาลงไปมากต่อมาได้มีการฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ.2498 โดยที่กิจการลูกเสือไทยได้เข้าสู่ระบบสากลมีการสร้างค่ายลูกเสือแห่งชาติ ที่ตำบล บางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัด ชลบุรี มีชื่อว่า "ค่ายวชิราวุธ" มีการเปิดอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือสำรองขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2501 และจัดตั้งกองลูกเสือสำรองกองแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2501 และในที่สุดกิจการลูกเสือก็เข้าสู่ยุคของประชาชนทั่วไป โดยมีการพระราชทานกำเนิดลูกเสือชาวบ้าน และเปิดอบรมขึ้นเป็นครั้งแรกที่ บ้านเหล่ากอหก ตำบลแสงพา อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2514
        นับว่าเป็นการบังเอิญที่กิจการลูกเสือไทย และลูกเสือโลกมีจุดมุ่งหมายในการสถาปนาคล้ายคลึงกัน เพียงแต่ระยะเริ่มต้นการลูกเสือไทยมุ่งเน้นเรื่อง ความรักชาติการป้องกันภัยของประเทศเป็นหลัก พร้อมกับวางแนวทางอบรมเยาวชนให้เป็นคนดีมีคุณภาพ ในปัจจุบันกิจการลูกเสือไทยก็ดำเนินไปเหมือนกับกิจการลูกเสือโลกเกือบทุกประการ จะมีความแตกต่างกับการลูกเสือประเทศอื่นก็คือ การเข้ามาสู่ขบวนการลูกเสือของเยาวชนในแต่ละประเทศนั้น จะเป็นลักษณะของสโมสร เอกชน และ กลุ่มสนใจ ไม่ผูกติดกับระบบโรงเรียน การเข้ามาของสมาชิกลูกเสือเข้ามาด้วยใจสมัคร ไม่มีการบังคับเป็นกิจกรรมนอกเวลาเรียน แต่สำหรับประเทศไทยปัจจุบัน ลูกเสือถือว่า เป็นกิจกรรมและวิชาหนึ่ง ในหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน เกือบทุกระดับชั้นเรียน ดังนั้นปริมาณลูกเสือในเมืองไทยจึงมีจำนวนมากมายกว่า ลูกเสือในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น