วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประวัติยุวกาชาติสากล

 
 ประวัติกาชาดสากล
 
 
     ผู้ให้กำเนิดกาชาด คือ นายอังรี ดูนังต์ (Henry Dunant) ชาวสวิส เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2371 ณ นครเจนีวา เป็นบุตรผู้มีตระกูลสูงของเมืองนั้นดูนังต์ ได้รับรางวัลโนเบลประเภทสันติ ซึ่งให้เป็นครั้งแรกในปี 2444 (ร่วมกับ เอฟ. ปาสสี ชาวฝรั่งเศสผู้เริ่มขบวนการสันติ) เมื่อมีอายุ 73 ปี ดูนังต์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2453 ขณะมีอายุ 82 ปี เมื่อเปิดพินัยกรรมปรากฎว่า ดูนังต์ไม่ได้ใช้จ่ายเงินรางวัลต่างๆ ที่ได้รับเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเลย คงเก็บเงินทั้งหมดไว้และได้แบ่งส่วนยกให้สถาบันสาธารณสงเคราะห์ของสวิตเซอร์แลนต์และนอรเวหลายแห่ง
 
     ดูนังต์ ได้เดินทางไปแสวงหาโชคลาภในแอฟริกาเหนือ 2 ครั้ง ในการเดินทางไปแสวงหาโชคลาภครั้งที่ 2 ในปี 2401 มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่า ครั้งหนึ่งดูนังต์ได้ซื้อน้ำตกแห่งหนึ่งพร้อมกับโรงโม่แป้ง แล้วเกิดเรื่องยุ่งยากกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ดูนังต์จึงได้ตัดสินใจเข้าหาพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ด้วยตนเอง และเดินทางไปยังภาคเหนือของอิตาลีที่หมู่บ้านซอลเฟริโน (Solferino) อยู่ทางใต้ของทะเลสาบการ์ดา (Garda) ในเดือนมิถุนายน 2402 ซึ่งขณะนั้นดูนังต์มีอายุ 31 ปี ประจวบกับกองทัพฝรั่งเศสได้ช่วยอิตาลีรบออสเตรีย ทหาร 4 แสนคนต่อสู้กัน มีทหาร 4 หมื่นคนล้มตายและบาดเจ็บเกลื่อนกลาดทั่วสนามรบโดยไม่มีผู้รักษาพยาบาล ภาพอันสยดสยองนี้ทำให้ดูนังต์ลืมเรื่องราวที่จะร้องเรียนต่อพระเจ้านโปเลียนเสียสิ้น ดูนังต์ได้ลงมือช่วยเหลือผู้บาดเจ็บด้วยตนเอง แล้วขอร้องประชาชนหญิงในท้องถิ่นนั้นมาช่วยด้วย
  
     จากประสบการอันน่าสยดสยองนี้เอง ดูนังต์ได้เขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งเมื่อ 3 ปีต่อมา ให้ชื่อว่า "Un Souvenir de Solferino" (A Memory of Solferino) แปลว่า "ความทรงจำเรื่องที่ซอลเฟริโน" และกล่าวตอนหนึ่งเป็นเชิงรำพึงว่า "จะเป็นไปไม่ได้หรือที่จะตั้งองค์การอาสาสมัคร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือทหารบาดเจ็บในยามสงคราม" ในที่สุดได้มีผู้เสนอความคิดของดูนังต์ต่อสมาคมสงเคราะห์สาธารณะแห่งเจนีวา (Public Welfare Society of Geneva) และสมาคมได้มีการประชุมกันในวันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2506 เวลา 18.00 น. ณ ชั้นล่างของสถานคาสิโน การประชุมมีระเบียบวาระรวม 5 ข้อด้วยกัน ระเบียบวาระข้อที่ 3 เกี่ยวกับข้อเสนอของ ดูนังต์
  
คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross)
     ที่ประชุมได้ตกลงตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณารายละเอียดข้อเสนอ คณะอนุกรรมการประกอบด้วยกรรมการ 5 คน ซึ่งเรียกกันว่า"Committee of Five" กรรมการผู้มีชื่อเสียงที่สุดคือ นายอังรี ดูนังต์ ซึ่งมีอาชีพเป็นนายธนาคารส่วนกรรมการอื่นๆ อีก 4 คน คือ นายพลกิโยม อังรี ดูฟูร์ (General Gillaume Henry Dufour) เทโอดอร์ โมมัวร์ (Theodore Maunuir) และ ลุยซ์ อัปปิอา (Louis Appia) ซึ่งเป็นแพทย์ทั้งสองคน กรรมการคนสุดท้ายคือ กุสตาฟ มัวนิเอร์ (Gustave Moynier) เป็นทนายและนายกสมาคมสงเคราะห์สาธารณะแห่งนครเจนีวา ซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศอยู่เป็นเวลาถึง 45 ปี ฉะนั้น ถ้ากล่าวว่า อังรี ดูนังต์ เป็นผู้ริเริ่มกิจการกาชาด กุสตาฟ มัวนิเอร์ ก็เป็นสถาปนิกในการจัดตั้งกาชาด
      
ในการประชุมคณะอนุกรรมการครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2406 คณะอนุกรรมการได้ลงมติ เรียกตนเองว่า "คณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อการบรรเทาทุกข์นักรบบาดเจ็บ" (International Committee for the Relief of Wounded Combatants) และนายพลดูฟูร์ ได้รับเลือกเป็นประธาน
      
ในปี 2423 "คณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อการบรรเทาทุกข์นักรบบาดเจ็บ" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ" (International Committee of the Red Cross) ดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน คณะกรรมการประกอบด้วยบุคคลชาวสวิสไม่เกิน 25 คน และยึดถือหลักการความเป็นกลาง มีสำนักงานใหญ่อยู่ ณ นครเจนีวา มีหน้าที่สำคัญคือ ดูแลให้มีการยอมรับนับถือและปฏิบัติตามอนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) และอำนวยบริการของกาชาดเมื่อเกิดขัดแย้งระหว่างประเทศหรือภายในประเทศ นอกจากนี้คณะกรรมการฯ มีหน้าที่รับรองสภากาชาดของประเทศต่าง ๆ ซึ่งตั้งขึ้นใหม่
หน้าที่ของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ
     คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศมีฐานะเป็นกลางและอิสระ หน้าที่สำคัญของคณะกรรมการฯ นอก จากดูแลให้มีการยอมรับนับถือและปฏิบัติตามอนุสัญญาเจนีวาแล้ว ยังต้องชี้แจงและเผยแพร่อนุสัญญาอีกด้วย คณะกรรมการฯ ธำรงรักษาหลักการกาชาด ซึ่งมีหลักการมูลฐานอยู่ 7 ประการ คือ มนุษยธรรม ความไม่ลำเอียง ความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ บริการอาสาสมัคร ความเป็นเอกภาพ และความเป็นสากล คณะกรรมการทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเมื่อเกิดการขัดแย้งทางอาวุธหรือความไม่สงบภายใน หรือเกิดสงครามกลาง เมืองหรือสงครามระหว่างประเทศ ในการนี้คณะกรรมการฯ จะส่งคำวิงวอนให้คู่กรณียอมรับนับถือบทบัญญัติเกี่ยว กับมนุษยธรรมของอนุสัญญาเจนีวา และคณะกรรมการฯ จะให้ความช่วยเหลือตามที่ต้องการ อนึ่งคณะกรรมการมีหน้าที่ดูแลผู้ประสบภัยสงครามได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือ ตรวจตราค่ายและสภาวะของเฉลยศึกและผู้ถูกควบคุม แล้วเสนอรายงานต่อรัฐบาลของประเทศผู้ทำการควบคุม และรัฐบาลของประเทศที่พลเมืองของตนถูกควบคุม สอดส่องดูแลการบรรเทาทุกข์สำหรับทหารและพลเรือนผู้ประสบภัย สืบเสาะแหล่งที่อยู่ของผู้พลัดถิ่น และจัด ส่งสิ่งของไปให้เฉลยศึกและผู้ที่ถูกควบคุมด้วย
      
นอกจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศแล้ว กาชาดยังมีองค์กรซึ่งทำหน้าที่ประสานงานของสภากาชาด ประเทศต่างๆ เรียกว่า "สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ" (ในอดีต เรียกว่า สันนิบาตสภากาชาด) ก่อตั้งขึ้นในปี 2462 เป็นสหพันธ์ของสภากาชาดทั่วโลก ปัจจุบันสภากาชาดและสภา เสี้ยววงเดือนแดงประเทศต่างๆ เป็นสมาชิก แล้ว 181 ประเทศ ทุกๆ 4 ปี ประเทศสมาชิกสภากาชาดระหว่างประเทศจากทั่วโลก จะมาประชุมกันครั้งหนึ่ง เพื่อกำหนดทิศ ทางและเป้าหมายต่อไป
สัญญลักษณ์กาชาด
 
     สัญลักษณ์ของกาชาดคือ เครื่องหมายกากบาทแดง ซึ่งไม่มีความหมายทางศาสนาคริสต์แต่อย่างใดหาก เป็นการให้เกียรติแก่ประเทศสวิตเซอร์แลนต์ซึ่งเป็นที่กำเนิดกาชาด เครื่องหมายนี้แทนที่จะเป็นกากบาทขาวบนพื้น แดงซึ่งเป็นธงของประเทศสวิตเซอร์แลนต์ แต่กลับกลายเป็นกากบาทแดงบนพื้นขาว อย่างไรก็ตามอาจมีประชากรใน บางส่วนของโลกเข้าใจว่าเครื่องหมายกากบาทแดงนี้ มีความสำคัญทางศาสนาคริสต์ ดังนั้น อนุสัญญาเจนีวาจึง อนุมัติให้ประชากรมุสลิมใช้เครื่องหมายเสี้ยววงเดือนแดงได้
      
สัญลักษณ์ของกาชาดทั้ง 2 แบบ มีกฎหมายระหว่างประเทศรับรอง ดังนั้น การใช้เครื่องหมายกาชาด สามารถใช้ได้ในกรณีต่อไปนี้
   
   
ในยามสงคราม หรือมีการขัดแย้งทางทหาร
           
- เป็นเครื่องหมายคุ้มครองบุคคล เช่น แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร เชลยศึกหรือนักโทษสงคราม ผู้บาดเจ็บทั้งทหารและพลเรือน
          
- เป็นเครื่องหมายคุ้มครองอาคาร สถานที่ และทรัพย์สินของกาชาด ยานพาหนะ ตลอดทั้งอุปกรณ์การแพทย์ และอุปกรณ์ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสงครามในยามสงบ เครื่องหมายกาชาดเป็นเครื่องหมายที่บ่งชี้ถึงการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆ
      
กฎหมายมนุษยธรรมได้กำหนดเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ห้ามทำร้ายและห้ามทำลายบุคคล สถานที่ ยานพาหนะ ตลอดจนอุปกรณ์การแพทย์ของกาชาด เมื่อเห็นสัญลักษณ์กาชาด ณ ที่ใด ณ ที่นั้นจะแสดงถึงการให้ความช่วยเหลือและการรับความช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาทุกข์เพื่อนมนุษย์ที่ประสบภัยพิบัติ ทั้งภัยสงครามและภัยธรรมชาติ ห้ามนำสัญลักษณ์ของกาชาดทั้ง 2 แบบ ไปใช้หากมิได้รับอนุญาตจากสภากาชาด หรือกาชาดระหว่างประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น